วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

ความหมาย

พลศึกษา ( Physical Education ) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่อยู่บนรากฐานทางวิทยาศาสตร์ และมีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์แขนงอื่นๆ อีกหลายแขนงซึ่งพลศึกษาในสมัยโบราณยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่จะแฝงอยู่ในการดำรงชีวิตปัจจุบันมนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด เช่น การหาอาหาร การต่อสู้สัตว์ร้าย และภัยธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยไม่รู้สึกตัว ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต และความเจริญเติบโตนี้เองเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิต และสังคม จนมีคำกล่าวว่า “ ผู้ให้กำเนิดชีวิต คือ การเคลื่อนไหว”

ความเป็นมา

คำว่า พลศึกษา ในสมัยกรีกโบราณ เรียกว่า ยิมนาสติก (Gymnastics) และใช้ชื่อนี้เรียกแทนกิจกรรมทุกชนิดที่ใช้สอนปฏิบัติในสถานที่ประกอบกิจกรรมกายบริหาร (Palacestra) ต่อมาในศตวรรษที่ 17 นักการศึกษายุโรปใช้ชื่อกิจกรรมลักษณะนี้ว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหว (Motor activity programs) ศตวรรษที่ 18-19 การศึกษายุคนี้เน้นไปทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการฝึกให้มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย และจิตใจ ด้วยวิธีการฝึกอบรม คำว่า ยิมนาสติก จึงเปลี่ยนไปเป็น Physical culture การพลศึกษาสมัยนี้เป็นการฝึกให้ร่างกายมีทรวดทรง สวยงาม และร่างกายสมส่วน ผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างสมบูรณ์ จะต้องมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต่อมาภายหลังการศึกษามีแนวโน้มที่จะให้ผู้เรียนได้ใช้มือในการประกอบกิจกรรมมากขึ้น เช่น การปั้น การแกะสลัก การฝีมือต่างๆ การศึกษาสมัยนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของการศึกษา และได้หันมาใช้เครื่องมือประกอบการฝึก มากขึ้นและการฝึกได้กระทำกันอย่างแพร่หลาย คำว่าพลศึกษาในสมัยนี้จึงเรียกว่า “กายบริหาร” (Physical Training) การพลศึกษาในช่วงเวลานี้ มุ่งที่จะฝึกให้มีร่างกายแข็งแรงเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่โตเป็นส่วนใหญ่ ศตวรรษที่ 20 แนวความคิดทางด้านการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวาง และนักการศึกษาต่างมองเห็นความสำคัญของการพลศึกษา และถือว่าการพลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาซึ่งจะขาดเสียมิได้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องได้รับการศึกษาครบทั้ง 4 ด้าน คือ
พุทธิศึกษา(Head) เป็นการศึกษาทางด้านวิชาความรู้แขนงต่างๆ เช่น การคิดเลข, การอ่าน, การเขียน
จริยศึกษา (Heard) เป็นการให้การอบรมกล่อมเกลาทางด้านจิตใจ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
พลศึกษา (Health) เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และความแข็งแรงทางด้านร่างกาย เช่น การเรียนรู้ศิลปการต่อสู้ มวยไทย กระบี่กระบอง การฝึกระเบียบแถวของนักรบไทยสมัยโบราณ
หัตถศึกษา (Hand) เป็นการศึกษาที่ฝึกให้เป็นผู้มีทักษะการใช้มือประดิษฐ์ สร้างสรรค์งานช่างต่างๆ เช่น การปั้น แกะสลัก การวาดเขียน หรือที่เรียกว่า ช่างสิบหมู่
นักการศึกษาคนสำคัญได้เห็นความจำเป็นและความสำคัญ ของการให้การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องให้การพลศึกษาควบคู่กันไปด้วย เช่น จอห์นล็อค จอห์นดิวอี้ รุสโซ เป็นต้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิชาพลศึกษาจึงได้ถูกจัดเข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน
คำว่า “พลศึกษา” มาจากคำว่า “พละ” แปลว่า กำลัง “ศึกษา” แปลว่าการเล่าเรียนซึ่งเมื่อนำมาสมาสกัน เป็นคำว่า “พลศึกษา” นักศึกษาพลศึกษาได้ให้ความหมายกันไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อที่จำอธิบายคำว่าพลศึกษาให้ได้ความหมายที่ครอบคลุมและชัดเจนมากที่สุด ซึ่งพอสรุปได้ว่า พลศึกษา คือการศึกษาแขนงหนึ่งที่มีจุดหมายที่จะส่งเสริมผู้เรียนให้มีพัฒนาการ ทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่ได้เลือกสรรแล้วเป็นสื่อที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

ความสำคัญของพละศึกษา

นักการศึกษาหลายแขนงได้มองเห็นความสำคัญของพลศึกษาที่มีต่อชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงของวัยไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือแม้แต่วัยชราก็ตาม ถ้าหากได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมพลศึกษาอย่างเหมาะสม ทุกช่วงวัยต่างๆดังกล่าว จะช่วยให้การพัฒนาทางการเคลื่อนไหว และพัฒนาการด้านอื่นๆจะดีไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้เด็กได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กมีร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรงมีสุขภาพจิตที่ดี พัฒนาการต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ผ่านวัยผู้ใหญ่ไปแล้ว แต่ยังได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายลงได้ดี ในการบริหารประเทศโดยใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักนั้น แผนการศึกษาชาติทุกฉบับมักจะมุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยรวมด้วยพื้นฐานทางการศึกษา 4 ด้าน คือ
พุทธิศึกษา มุ่งเน้นให้คนมีความรู้ วิชาการปัญญาเพื่อการดำรงชีวิต
จริยศึกษา มุ่งเน้นให้คนตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
พลศึกษา มุ่งเน้นให้คนมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
หัตถศึกษา มุ่งเน้นให้คนมีกิจนิสัย และมีความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงานเพื่อเป็นรากฐานของการประกอบอาชีพ ขอบข่ายของกิจกรรมพลศึกษา กิจกรรมพลศึกษา ต้องเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาระบบอวัยวะของเด็กที่มีมาตั้งแต่เกิดเช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด ขว้างปา ห้อยโหน ฯลฯ ให้มีการเจริญพัฒนาการอย่างถูกต้อง สมส่วนด้วยเหตุนี้กิจกรรมพลศึกษา จึงประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. เกม (Game) เป็นกิจกรรมการเล่นอย่างง่ายๆ ไม่มีกฎกติกามากนัก มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนาน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้ตามสมควร เกมบางประเภทสามารถนำมาใช้กับผู้ใหญ่ได้อย่างสนุกสนาน
2. กิจกรรมกีฬา (Sport) เป็นกิจกรรมใหญ่ที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย กิจกรรมกีฬา แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภทได้แก่
2.1 กีฬาในร่ม (Indoor Sport) ได้แก่ประเภทกีฬาที่ไม่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก แต่จะเน้นเรื่องความสนุกสนาน และมักจะนิยมเล่นภายในอาคารหรือโรงยิม เช่นเทเบิลเทนนิส ยิมนาสติก ฯลฯ
2.2 กีฬากลางแจ้ง (Outdoor Sport) ได้แก่ประเภทกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่หนักและมักจะเล่นภายนอกอาคาร เช่น ฟุตบอล ขี่ม้า พายเรือ วิ่ง ฯลฯ
3. กิจกรรมเข้าจังหวะ (Rhythmic Activity) ได้แก่กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้เสียงเพลงหรือดนตรีเป็นส่วนประกอบ
4. กิจกรรมทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Body Conditioning) เป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อรักษาหรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เช่น การดึงข้อ ดันพื้น ลุก-นั่ง ฯลฯ
5. กิจกรรมนอกเมือง (Outdoor Activity) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไปกระทำตามภูมิประเทศที่น่าสนใจ เช่น การปีนเขา เดินทางไกล ทัศนาจร ค่ายพักแรม ฯลฯ
6. กิจกรรมแก้ไขความพิการ (Adaptive Activity) เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความพิการทางร่างกาย

วัตถุประสงค์ของพลศึกษา
1. พัฒนาความเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย
2. พัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ
3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์
4. พัฒนาการทางด้านสังคม
5. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
1. พัฒนาความเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย
1.1 พัฒนาระบบกล้ามเนื้อ ให้มีขนาดโตขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้น
1.2 พัฒนาระบบกระแสโลหิต ทำให้ลดการสะสมของกรดแลคติก ซึ่งทำให้เกิด การเหน็ดเหนื่อยช้าลง 1.3 พัฒนาระบบเส้นโลหิต ทำให้เส้นโลหิตมีความยืดหยุ่นตัวดี
1.4 พัฒนาระบบหัวใจ ทำให้หัวใจมีขนาดโตขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้นอัตราการเต้นของหัวใจต่ำลง
1.5 พัฒนาระบบความดันโลหิต ทำให้ความดันโลหิตปรกติ (120/80 มิลลิเมตรปรอท)
1.6 พัฒนาระบบหายใจ ทำให้ปอดแข็งแรง อัตราการหายใจต่ำลง
1.7 พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาทกับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดทักษะ (Skill)
1.8 พัฒนาระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. พัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ
เสริมสร้างความมีน้ำใจนักกีฬา เช่น ความอดทน ความเสียสละความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความยุติธรรม ความเมตตากรุณา ฯลฯ
3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ เสริมสร้างสมาธิ การควบคุมอารมณ์ ความสดชื่น สนุกสนาน ฯลฯ
4. พัฒนาการทางด้านสังคม เสริมสร้างการทำงานร่วมกัน(Team Work) การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี การปรับตัวเข้ากับสังคม ฯลฯ
5. พัฒนาการด้านสติปัญญา เสริมสร้างความคิดริเริ่ม การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกไหวพริบ ฯลฯ

บทสรุป
สาระสำคัญของประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมพลศึกษานั้นถ้านักศึกษาเคยฟังเพลงกราวกีฬาที่ประพันธ์โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ “ครูเทพ”ลองวิเคราะห์ดูทุกตอนจะพบว่าเนื้อร้องทั้งหมด จะบรรยายถึงคุณค่าการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของพลศึกษาดังที่กล่าวไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น